ระบบข้อมูลโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร

โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ

ประวัติความเป็นมา

การใช้เทคโนโลยีการเกษตรหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาการเกษตร ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างแรงจูงใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจการผลิตภาคการเกษตร โดยจำเป็นต้องมีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรวิจัยและพัฒนาภาคการเกษตร ที่เป็นแหล่งบริการความรู้เฉพาะด้านกับเกษตรกรเป้าหมายที่จะต้องนำความรู้วิทยาการใหม่ และบริการทางวิชาการโดยอาศัยช่องทาง (Channel) ต่าง ๆ ที่สามารถให้บริการตรงความต้องการและทันต่อเหตุการณ์ การจัดตั้งคลินิกเกษตรเคลื่อนที่เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้การบริการทางวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีบรรลุผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังเร็วขึ้น ซึ่งการดำเนินงานในรูปแบบนี้จะเป็นการบูรณาการนักวิชาการแต่ละสาขาทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง พัฒนาที่ดิน ฯลฯ โดยอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ เข้าช่วยในการปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถเคลื่อนที่เข้าไปได้ทุกจุด สร้างแรงดึงดูดใจจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป้าหมาย เป็นการกระตุ้นเกษตรกรให้เกิดการตื่นตัว และยอมรับนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี

ในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอพระราชานุญาตจัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่กราบบังคมทูลถวาย และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระราชานุเคราะห์ และทรงพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตทางการเกษตรได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์
  2. เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริมและศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ในการพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถทำการผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

เป้าหมาย

  1. ให้บริการทางการเกษตรแก่เกษตรกรตามความต้องการ และความเหมาะสมของพื้นที่รวมทั้งการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
  2. เสริมสร้างความรู้และฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมแก่เกษตรกร

รูปแบบกิจกรรม

กิจกรรมด้านคลินิก ได้แก่ การให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ และวินิจฉัยและให้บริการโดยการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ

  1. คลินิกพืช (กรมวิชาการเกษตร) โรคและแมลงศัตรูพืช วัชพืช สารพิษตกค้าง การขาดธาตุอาหารพืช วัตถุมีพิษทางการเกษตร
  2. คลินิกดิน (กรมพัฒนาที่ดิน) วิเคราะห์และตรวจสอบดินและปุ๋ย
  3. คลินิกสัตว์ (กรมปศุสัตว์) โรคสัตว์ ควบคุมบำบัดโรคสัตว์ ตรวจรักษาพยาบาลสัตว์ ฉีดวัคซีนสัตว์
  4. คลินิกประมง (กรมประมง) โรคสัตว์น้ำ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คุณภาพน้ำ กิจกรรมเสริมสร้าง ความรู้ การฝึกอบรมและจัดนิทรรศการที่เป็นความต้องการของเกษตรกรหรือเป็นเทคโนโลยีที่เกษตรกรควรรู้ ได้แก่
  5. คลินิกบัญชี (กรมตรวจบัญชีสหกรณ์) การจัดทำบัญชีฟาร์ม
  6. คลินิกชลประทาน (กรมชลประทาน) การบริหารจัดการน้ำ ฯลฯ
  7. คลินิกสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) การดำเนินงานด้านสหกรณ์ ระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ
  8. คลินิกกฎหมาย (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) การดำเนินงานด้านกฎหมายที่ดิน
  9. อื่น ๆ
  10. กิจกรรมสนับสนุนโครงการสายใยรักจากแม่สู่ลูก
    • คลินิกอาชีพเสริมสำหรับแม่ (เพื่อเพิ่มรายได้ของครอบครัว)
      • การแปรรูปอาหาร
      • หัตถกรรมอื่นๆ
    • นิทรรศการเกษตรสมบูรณ์เพิ่มพูนสุขภาพแม่ลูก (เพื่อโภชนาการของแม่และเด็กลดรายจ่ายของครอบครัว)
      • ชุมชนในชนบท
      • ชุมชนในเมือง

การติดตามให้บริการต่อเนื่อง

  1. สำนักงานเกษตรจังหวัดร่วมกับหน่วยงานให้บริการคลินิกเกษตรแต่ละด้านจำแนกกลุ่มเกษตรกรที่เข้ารับบริการออกเป็น 2 กลุ่ม ตามระดับปัญหา คือ
    • กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นรายครัวเรือน โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือหลายหน่วยงาน
    • กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่สามารถแก้ไขโดยการช่วยเหลือในภาพรวม หรือช่วยเหลือเป็นรายกลุ่ม/พื้นที่
  2. จัดทำโครงการและแผนดำเนินงาน ในการช่วยเหลือร่วมกับเกษตรกรที่เข้ารับบริการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งงาน/โครงการออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่
    • รายครัวเรือน เช่น ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง
    • รายกลุ่มหรือรายพื้นที่ เช่น ด้านดิน ด้านสหกรณ์ ด้านชลประทาน ด้านกฎหมาย
  3. ดำเนินการตามแผนการช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้ารับบริการ
  4. การให้บริการต่อเนื่องนั้นอาจดำเนินการโดยใช้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล เป็นกลไกในการดำเนินงาน และให้เกษตรจังหวัดเป็นผู้ประสานงานกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง (ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด พัฒนาที่ดินจังหวัด ฯลฯ) ในระดับจังหวัดหรือระดับเขต เพื่อจัดหาแผนการหมุนเวียนการเข้าไปให้บริการกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่เคยเข้ามารับบริการ แต่ละคลินิกเป็นข้อมูลพื้นฐานในการให้บริการ